Home » รู้จัก รมว.หญิง แห่งกระทรวงอุตสาหกรรม “พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล”

รู้จัก รมว.หญิง แห่งกระทรวงอุตสาหกรรม “พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล”

by rttwp01
5,307 views

สส.นครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ

มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติด้วยอุตสาหกรรม

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สส. 4 สมัยจากจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยสมัยล่าสุดสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ และได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

วันนี้สส. พิมพ์ภัทรา หรือปุ้ย ให้เกียรติให้สัมภาษณ์กับ Roundtable Thailand เป็นพิเศษ ว่าด้วยเรื่องเส้นทางชีวิตการเมือง จนถึงภารกิจที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติ

สำหรับเส้นทางเข้าสู่การเมืองนั้น เธอเกิดมาในครอบครัวนักการเมือง โดยคุณพ่อ มาโนชญ์ วิชัยกุล เป็นสส.นครศรีธรรมราช คุณปุ้ยจึงเติบโตมาด้วยความคุ้นเคยกับการที่มีชาวบ้านมาขอความช่วยเหลือที่บ้านเป็นประจำ

“คุณพ่อเป็นสส.สมัยแรกตอนปุ้ยเกิดพอดี เพราะฉะนั้นที่บ้านก็จะคุ้นเคยกับการที่เห็นคนมาที่บ้าน ขออธิบายว่าสส.ตอนนั้นกับตอนนี้ต่างกันมาก เมื่อก่อนทุกสิ่งทุกอย่างสส.จะเป็นคนช่วยประสาน และลงมือทำให้ด้วย เช่นเมื่อก่อนตอนปุ้ยเกิดไฟฟ้ายังไม่มีนะคะ คนในเมืองเขาอาจจะคุ้นเคยกับการโตมาแบบมีไฟสว่างหนทางสะดวก แต่ต่างจังหวัดยังไม่มีไฟฟ้า ถนนหนทางก็เป็นถนนธรรมดามีหญ้าตรงกลาง เราเห็นสภาพนี้มา ความหวังของประชาชนก็คืออะไรที่เค้าเห็นว่าสส.พึ่งพาได้ ดึงงบประมาณไปได้ อาคารเรียน ถนนหนทาง ไฟฟ้าส่องสว่าง เขาก็จะมาขอความช่วยเหลือ

…ปุ้ยจะคุ้นเคยกับคนมาที่บ้าน มายื่นหนังสือให้ สส. (พ่อ) ตรงนี้มีปัญหาอย่างนี้ ๆ เราก็เริ่มได้เห็น หรือเวลาออกไปหาชาวบ้านพ่อก็จะหิ้วปุ้ยไปด้วย  ด้วยความที่วันธรรมดาพ่อจะต้องมาประชุมสภาที่กรุงเทพฯ ต้องนั่งรถไฟไปเพราะยังไม่มีสนามบิน มาทีก็ห้าวัน ฉะนั้น เวลาที่เราจะได้อยู่กับพ่อคือเสาร์อาทิตย์ พ่อก็จับใส่รถนั่งกันไปทำงานคือไปพบชาวบ้าน หรือเขาจะมีนัดกันเป็นกลุ่ม ๆ มาเจอกัน เหมือนมีคนส่งข่าวต่อ ๆ กันไป เสาร์อาทิตย์จะมีแต่คนมาที่บ้าน นั่งกินกาแฟ กินข้าว วันหยุดของคนอื่นจะได้อยู่กับครอบครัว แต่ของเราไม่เคยมีคำว่าครอบครัวเลย ช่วยพ่อรับแขกเสาร์อาทิตย์ ถึงได้รู้จักและคุ้นเคยว่าใครเป็นใคร 

…การที่ได้คลุกคลีอยู่กับชาวบ้านก็ได้เห็นว่าสส.เป็นกลไกที่ค่อนข้างสำคัญ เพราะการที่ชาวบ้านจะเดินไปหาหน่วยราชการเป็นสิ่งที่เขาหวาดกลัว คือเขารู้สึกว่าข้าราชการมีความเป็น “นาย” ชาวบ้านก็จะเกรงๆ แต่ถ้าเป็นสส.เขาคุยได้ เขาก็เลยมองสส.เป็นไปรษณีย์ เป็นคนเชื่อมโยงให้ ก็จะคุ้นเคยกับการทำงานแบบนี้มาตั้งแต่เด็กๆ”  

พ.ศ. 2550 การแข่งขันเลือกตั้งเริ่มดุดันขึ้น มีพรรคการเมืองใหม่มาแรง ผู้แข่งขันหน้าใหม่ลงสนาม คุณปุ้ยจึงเห็นว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง 

“จนเรียนจบพ่อก็ไม่ได้บอกว่าต้องเป็นสส. ปุ้ยก็ทำงานของปุ้ยไป จนวันหนึ่งมันเป็นช่วงเปลี่ยน เป็นช่วงการเมืองแรง ช่วงนั้นพรรคไทยรักไทยมาแรง ตอนนั้นพ่อเป็นสส.สมัยที่แปดหรือเก้าแล้วค่ะ คนก็อาจจะรู้สึกว่าอยู่มานานแล้ว ประกอบกับคนที่เป็นคู่แข่งใหม่ก็เป็นคนหนุ่มไฟแรง แล้วก็มีสัญญาณอะไรหลาย ๆ อย่างที่ทำให้เห็นว่าน่าจะเปลี่ยน น่าจะมีคนอื่นที่มาลงดีกว่า ก็คุยกันในครอบครัว แล้วก็ปุ้ยก็มาลงสมัคร

…รอบแรกลงในนามพรรคประชาธิปัตย์ ยอมรับว่าตอนนั้นใครลงประชาธิปัตย์ก็ได้จริง ๆ ถ้าเทียบกันปุ้ยอาจได้เปรียบกว่าคนอื่นตรงที่เป็นลูกสส. แต่คำว่าลูกสส. มันทำให้เราต้องแอคทีฟกว่าคนอื่น โดยเฉพาะการทำงาน 

…พ่อบอกว่าเป็นสส.สมัยแรกไม่ยาก สมัยต่อมาจะยากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วก็เป็นจริง วันสมัครพ่อก็บอกให้ไปสมัคร แล้วธรรมเนียมประชาธิปัตย์ พอสมัครปุ๊บเย็นวันนั้นต้องปราศรัย พ่อบอกอยากพูดอะไรก็พูดไป พ่อก็คงคิดว่าเราเจอสิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่เด็ก ๆ คงเป็นอะไรซึมซับไปบ้าง ปราศรัยครั้งแรกก็ประหม่าบ้างค่ะ แต่อาศัยว่าตอนทำกิจกรรมในโรงเรียนมีรายงานหน้าห้อง แต่พอเจอคนเป็นพันก็ประหม่าแน่นอนค่ะ แต่ปุ้ยคิดว่าเราโชคดีที่คนให้โอกาส เวทีแรกจำได้ว่า 10 นาที เวทีหลัง ๆ ครึ่งชั่วโมง จนเวทีสุดท้าย 45 นาที

…และอาจจะเป็นความโชคดีในความโชคร้าย คือการหาเสียงสมัยพ่อกับการหาเสียงสมัยปุ้ยมันถึงยุคที่จะต้องเปลี่ยน เพราะสมัยพ่อต้องยอมรับว่าสู้กันด้วยเกมการเมือง มาถึงช่วงที่พ่อต้องสู้กับไทยรักไทย มันสู้ในแง่ธุรกิจการเมือง แต่ความสัมพันธ์ที่เราอยู่กับชาวบ้านแบบเครือญาติพี่น้อง จะเรียกว่าอุปถัมภ์ก็ได้ เพราะช่วยกันมาเป็นสิบปีมันก็มีความผูกพัน ซึ่งบางครั้งเงินก็ซื้อค่าตรงนี้ไม่ได้ แล้วปุ้ยก็โตพอที่จะรับรู้ว่ามันมีวิธีการแบบธุรกิจการเมืองเข้ามา พอปุ้ยมาเป็นสส.สมัยแรก เราจะใช้วิธีการเดิม ๆ แบบพ่อไม่ได้แล้ว แต่ถ้าจะให้เราลงทุนแบบเขาก็ไม่ได้อีก ต้องยอมรับว่าประชาธิปัตย์ไม่เคยต้องใช้เรื่องนี้จริงๆ ก่อนหน้านี้ประชาธิปัตย์เป็นผู้นำทางความคิด ผู้นำทางการเมือง ชัดเจนเรื่องนี้มาตลอด

…ตอนนี้ปุ้ยก็มีการปรับเปลี่ยนการทำพื้นที่ค่อนข้างมาก แทนที่เราจะมีแค่แกนนำของเรา ก็ใช้วิธีพบปะชาวบ้านให้มากขึ้น เราต้องการสร้างตัวของเราเองไม่ใช่คำว่าลูกสส. เพราะประโยคที่ท่านชำนิ (ศักดิเศรษฐ์ อดีตรมช.กระทรวงมหาดไทย ปัจจุบัน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์) ปราศรัยบนเวที ท่านบอกว่าวันนี้ปุ้ยคือลูกมาโนชญ์ แต่หลังจากนี้มาโนชญ์จะเป็นพ่อสส. ทีนี้ต้องทำยังไงก็ได้ให้คนจำได้ว่าไม่ใช่ลูกมาโนชญ์ แต่นี่คือสส.ปุ้ย วิธีที่ทำได้คือเราลงแรง เราพบปะชาวบ้านให้มากขึ้น จนรอบที่สองเราก็มีโอกาสกลับมาอีกครั้งหนึ่ง 

…แต่รอบที่สองยังไม่หนักเท่ารอบที่สาม มันผ่านช่วงของกปปส. มีการยึดอำนาจ ทำให้เราห่างพื้นที่ไปประมาณสี่ปี แล้วช่วงนั้นก็แต่งงานมีลูก ไม่ได้พบปะชาวบ้านบ่อยเหมือนเคย แล้วมันก็มีวิธีการเมืองแบบใหม่ด้วย”

อย่างไรก็ตามคุณปุ้ยก็ผ่านการเลือกตั้งครั้งที่สามมาได้ และในครั้งที่สี่ครั้งล่าสุดนี้ เธอลงในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ยังสามารถฝ่าฟันเข้ามาเป็นผู้แทนของจังหวัดนครศรีธรรมราชได้อีกครั้ง ต้องเรียกว่าเป็นพลังแห่งสายใยความผูกพันกับคนในพื้นที่อย่างแท้จริง 

“เส้นทางสายนี้ปุ้ยว่าเป็นความภูมิใจแบบบอกไม่ถูก เวลาชาวบ้านมาขอให้เราช่วยทำอะไรแล้วประสบความสำเร็จ ..มันมีถนนอยู่เส้นนึงที่ลำบากมากกก กี่สมัย ๆ ก็ทำไม่ได้ แล้วชีวิตของชาวบ้านก็ขึ้นอยู่กับถนนเส้นนี้ แล้วเราทำได้ นั่นคือความอิ่มเอมที่บอกไม่ถูก ด้วยรัฐธรรมนูญแต่ก่อนให้อำนาจสส.ในการจัดการทำอะไรได้มาก พัฒนาโรงเรียน ได้เห็นน้อง ๆ ได้เรียนในอาคารเรียนหลังใหม่ มันจะเป็นความภูมิใจอย่างนี้มากกว่า 

…แล้วก็มันไม่ได้เป็นความภูมิใจที่ไปไหนมีคนรู้จักเรียกสส. แต่รู้สึกว่าเวลาเราทำอะไรให้เขาสำเร็จ เขาภูมิใจในความเป็นสส.ของเรา มากกว่า แต่ด้วยความที่เรามีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง เช่น คนที่เป็นลูกสส.ก็จะโดนมองว่าโอ๊ยนี่ลูกสส. เวลาเราทำอะไรไม่ดีคนจะไม่ด่าแค่เรา แต่จะด่าไปยันพ่อสส. ก็เลยเป็นต้นทุนที่เราต้องแบก และทำให้เสียหายไม่ได้”

ตลอดระยะเวลาการทำหน้าที่สส. คุณปุ้ยมีผลงานเด่นที่เห็นได้ชัดเจนอย่างเช่น

-เป็นแกนหลักในการประสานงานระหว่างท้องที่ ท้องถิ่น หน่วยงานราชการระดับจังหวัด กรม และกระทรวงจนนำไปสู่การจัดสร้างโครงการประตูระบายน้ำหัวงานและอาคารประกอบโครงการประตูระบายน้ำคลองกลายบ้านนากุน ตำบลสระแก้ว อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช 

-รับความเดือดร้อนจากประชาชน เข้าร่วมกับท้องที่ ท้องถิ่นและดำเนินการโดยเป็นแกนหลักในการผลักดัน จัดหางบประมาณ เร่งก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมคลองท่าเชี่ยว พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ หมู่ที่ 16 ตำบลทุ่งปรัง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช 

-เป็นแกนหลักในการระดมความร่วมมือและความคิดเห็นจากประชาชน จากท้องที่ ท้องถิ่น และรับประเด็นไปผลักดันจนนำไปสู่การก่อสร้าง ฝายชะลอน้ำบ้านทุ่งใหญ่พร้อมอาคารประกอบ ตำบลทุ่งปรัง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช 

-ผู้นำวิธีคิด “วาระเมืองสิชล” สร้างวิธีคิดการแก้ไขปัญหาแบบใหม่ด้วยการนำเอาความร่วมมือจากท้องถิ่น ท้องที่ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม มาสังเคราะห์ปัญหาร่วมกัน นำไปสู่การจัดระเบียบตามสภาพปัญหา ความเร่งด่วนและนำไปสู่การจัดระเบียบการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว หรือที่รู้จักในชื่อวาระเมืองสิชล

-เป็นเจ้าของวิธีการทำงานที่ประชาชนรู้จักความเป็น “บุคคล” มากกว่าความเป็นนักการเมือง หรือพรรคการเมือง ความเป็นเนื้อเดียวกันระหว่างคนพื้นที่ ทำงานอย่างตรงกับความต้องการของประชน เข้าใจ เข้าถึง และรู้จักสภาพพื้นที่ นำประเด็นปัญหาความเดือดร้อนเข้าถกเถียงในสภาและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม

และสำหรับบทบาทใหม่ที่ได้รับมอบหมาย คือการเป็นรมว.กระทรวงอุตสาหกรรมนั้น คุณปุ้ยยอมรับว่ามีหนักใจบ้าง ไม่ใช่ในเรื่องงาน แต่เป็นเรื่องความคาดหวังมากกว่า แต่ก็สบายใจว่าพรรคพร้อมจะสนับสนุนในทุก ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นทีมงาน ข้อมูล ส่งคนเก่ง ๆ มาเป็นที่ปรึกษาและช่วยทำงาน

“ปุ้ยคุยกับข้าราชที่กระทรวงว่าปุ้ยไม่ได้มาเป็นนายนะ เรามาช่วยกัน ถ้าคิดว่าปุ้ยจะมาช่วยผลักดันอะไรของกระทรวงได้ก็ให้บอก เพราะต้องทำงานด้วยกัน 

…สิ่งที่อยากผลักดัน แน่นอนต้องไม่ให้ประชาชนที่เลือกรวมไทยสร้างชาติมาผิดหวัง อย่างแรกเลยคือต้องทำนโยบายของรทสช.ให้เป็นนโยบายของรัฐบบาลให้สำเร็จ คือเรื่องอุตสาหกรรมอีวีที่ต้องทำต่อ นี่คือเรื่องแรก เรื่องที่สองคือระเบียงเศรษฐกิจ อีอีซี เราทำสำเร็จแล้ว บางท่านอาจจะมองว่ามันไม่สำเร็จ แต่ถ้ามาดูตอนนี้ยอดนักลงทุนและผู้ประกอบการที่เข้ามา อีอีซีไปไกลแล้ว แต่เราไม่อยากให้โตแค่อีอีซี เราอยากให้อุตสาหกรรมเป็นส่วนขับเคลื่อนประเทศจริง ๆ ก็อยากให้มีทั้งสี่ภาค แต่ก็ต้องดูความเป็นไปได้ ทั้งสี่ภาคสามารถเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ เพราะวันนี้ท่านนายกฯ บอกแล้วว่ารายได้นอกจากการท่องเที่ยวแล้วก็คืออุตสาหกรรม คุยกับท่านผู้บริหารก็บอกว่ากระทรวงอุตสาหกรรมไม่ใช่กระทรวงอำนวยการ เราเป็นกระทรวงที่ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหญ่และทำให้ธุรกิจสตาร์อัป SMEs มีความแข็งแกร่ง

…ภาคใต้ของเรามีข้อได้เปรียบมาก ก่อนหน้าเราอาจเห็นด้านเกษตร แต่ตอนนี้คือความมั่นคงด้านอาหาร ตะวันออกกลางหรือประเทศต่าง ๆ แคร์เรื่องนี้กันมากหลังจากโควิด ผู้ประกอบการท่านหนึ่งแชร์ประสบการณ์ให้ฟังว่า ท่านรู้มั้ยสิงคโปร์นี่เปิดตู้เย็นมาไม่เห็นไข่เขาช็อกกันทั้งประเทศนะ นั่นคือความมั่นคงของอาหารเขาไม่มี แต่วันนี้เราพร้อมทุกอย่าง เพียงแต่เราจะทำยังไงให้ด้านเกษตรได้เป็นอุตสาหกรรม และสามารถส่งออกได้ในประเทศคู่ค้าใหม่ของเรา 

…อย่างอาหารอุตสาหกรรมฮาลาล ต้องยกความดีความชอบให้ท่านนายกประยุทธ์ ที่ท่านได้เปิดสัมพันธภาพอย่างดีกับซาอุดีอาระเบีย  ถ้าเราทำเรื่องนี้ได้ตลาดใหญ่คือตลาดคนมีสตางค์ ยังไงก็ต้องซื้อ อย่างมาเลเซียทำได้ดีกว่าเรา โดยศักยภาพเราเราทำได้ เพียงแต่เรายังไม่ได้เริ่มอย่างเป็นเรื่องเป็นราว วันนี้เราไม่อยากให้จำกัดอยู่แค่ในวงศาสนา มันต้องเป็นระดับประเทศ ทุกคนกินได้ และได้ความมั่นใจด้วยว่ามันถูกต้อง เลี้ยงตามกระบวนการ แต่วันนี้เราจะทำเรื่องส่งออก ต้องถูกหลักศาสนา ขั้นตอนการเลี้ยง การชำแหละ ทุกอย่าง ทุกขั้นตอน 

…ยังมีอุตสาหกรรมใหม่ที่ดูเหมือนไกลตัวแต่สามารถทำเงินให้เราได้จริง ๆ คืออุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เราสามารถผลิตรถลาดตระเวน รถหุ้มเกราะของเราเองได้แล้ว แล้วก็สามารถทำเรื่องของปืน พวกนี้คือรายได้ที่จะเข้าประเทศ เราไม่ต้องนำเข้า แม้แต่เรื่องของชิ้นส่วน ชิ้นส่วนประกอบเครื่องยนต์ เครื่องบิน เราสามารถผลิตไปขายแอร์บัสได้แล้ว อันนี้เราควรจะหยิบมาทำให้เป็นเรื่องเป็นราว

…แต่สำคัญที่สุดเราจะต้องมีแรงงานที่มีคุณภาพ เราคุยกับกระทรวงอว. กระทรวงศึกษา เราจะผลิตแค่บุคลากรที่จบปริญญาไม่ได้ โดยเฉพาะฐานการผลิตที่เราอยากให้มาตั้งก็ถามเลยว่า ถ้ามาตั้งแล้วมีแรงงานฝีมือเฉพาะทางหรือเปล่า ถ้าเราซัพพอร์ทได้ แม้ว่าเราจะมีต้นทุนเรื่องของแรงงานและพลังงานสูงจริง แต่ถ้าเรามีแรงงานคุณภาพนักลงทุนก็จะมาค่ะ เพราะมาปุ๊บครบจบทุกอย่าง 

…อินโดนีเซียและเวียดนามเป็นคู่แข่งสำคัญ เราต้องยอมรับว่าเขาได้เปรียบกว่าเราตรงต้นทุน รายได้ แต่ถ้านโยยบายเราชัด เรายังคงได้เปรียบเขาในเรื่องทักษะแรงงาน”

นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมยังมีผู้พร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการมากมาย ไม่ได้มีแค่ธนาคารออมสิน หรือธกส. ยังมี “ดีพร้อม” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่จัดอบรมสัมมนาต่อยอดธุรกิจ เช่นการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการขายทำรายได้ให้เพิ่มมากขึ้น

“ปุ้ยกำลังจะไปดูที่ชุมพร ตอนเขาเริ่มธุรกิจเขาอายุสิบสี่ตอนนี้สามสิบละ พ่อแม่เขาเสียชีวิต เขาถวายฎีกาในหลวง ขอวัวมาคู่นึง แล้วตอนนี้เขามีเป็นฟาร์มวัวเลย แล้วเปลี่ยนจากวัวนมเป็นผลิตภัณฑ์นม จากวัวแค่คู่เดียว ได้กระทรวงอุตสาหกรรมเข้าไปช่วยส่งเสริม ซึ่งปุ้ยคิดว่าแบบนี้คือทำให้เขาแข็งแรง 

…ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ปุ้ยไม่เป็นห่วง เพราะเขามีต้นทุนที่ดีมีสถาบันการเงินที่ดี เราแค่ลดขั้นตอนกระบวนการ เรื่องของกฎหมาย ใบอนุญาตให้เขาตามกำหนดเวลา แต่ผู้ประกอบการสตาร์ทอัป SMEs ปุ้ยว่าความแข็งแรงของเขาเป็นสิ่งสำคัญ

…เรื่องแปรรูปสำคัญมากสำหรับการเกษตร ถ้าเรายังขายแบบเดิมราคาเท่านี้ มังคุดขายทุกปีก็ยังยี่สิบบาท ผลไม้อย่างอื่นก็ทำได้หมด แม้แต่การยืดระยะเวลาให้สดใหม่ อุตสาหกรรมเข้าไปช่วยได้ ยังไม่รวมถึงเราเคยเป็นครัวโลก เคยเป็นผู้ส่งออกหลักลำดับต้น ๆ ตอนนี้เราต้องดูว่าทำไมกลายเป็นลำดับที่ห้าที่สี่ ส่งเสริมอะไรได้ก็ต้องไปช่วยด้านนี้”

ดังนั้น คุณปุ้ยจึงอยากให้ผู้ประกอบการได้มองกระทรวงอุตสาหกรรมว่าเป็นแรงบันดาลใจสำหรับผู้ประกอบการทั้งใหม่และเก่า และให้การสนับสนุนช่วยเหลือได้

“ปุ้ยอยากให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นแรงบันดาลใจ ผู้ประกอบการใหม่ ๆ ที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองต้องไปหาส่วนสนับสนุนจากไหนได้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นฝ่ายสนับสนุนที่ดี อยากให้อุตสาหกรรมได้ไปอยู่ในส่วนหนึ่งของความคิดของผู้ประกอบการในระดับชาวบ้าน ว่าอุตสาหกรรมก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งนะที่จะช่วยได้ค่ะ”

*****************************

เรื่อง กองบรรณาธิการ Roundtablethailand

ถ่ายภาพ อรรถพล ทองมาเอง

You may also like

About Us

สื่อที่มุ่งเน้นข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ เป็นกลาง เพื่อให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจ

@2022 – All Right Reserved. Designed and Developed byu00a0PenciDesign