Home » เชิญชมโขนภาพยนตร์ Hanuman White Monkey 

เชิญชมโขนภาพยนตร์ Hanuman White Monkey 

by rttwp01
1,047 views

ด้วยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตรทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อศิลปะการแสดง “โขน” นาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในการทำนุบำรุงมรดกศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชนชาติไทยโดยเฉพาะศิลปะการแสดงโขนตลอดมา นับเป็นโชคของชาวไทยที่สมบัติของชาติแขนงนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าปกกระหม่อมจากพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ทรงดูแลส่งเสริมศิลปะแขนงนี้ให้ดำรงคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

โดยคณะกรรมการบริษัทสหศีนิมาจำกัดตระหนักถึงความสำคัญจึงได้ดำเนินการตามรอยพระยุคลบาทในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติจัดการแสดงโขนณโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุงมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ อย่างต่อเนื่องตลอดมา โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้จัดการแสดงโขนสำหรับนักท่องเที่ยวขึ้น ณ โรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุงเพื่อเป็นการสืบสานรักษาต่อยอดศิลปะการแสดง “โขน” ให้เป็นที่ประจักษ์สู่สายตาประชาคมโลกมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ จวบจนถึงปัจจุบัน

บริษัท สหศีนิมา จำกัด ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และกระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินการจัดโครงการผลิตโขนภาพยนตร์ HANUMAN White Monkey  ขึ้น ซึ่งเกิดจากแนวคิด “Goes Digital โลกเปิดเราปรับประเทศเปลี่ยน” โดยการผสมผสานศิลปะการแสดงวัฒนธรรมแบบเดิมที่เกิดขึ้นบนเวทีกับเทคนิคทางด้านดิจิทัลคอมพิวเตอร์กราฟิกและเทคนิคพิเศษของภาพยนตร์ มาสร้างสรรค์เพื่อสร้างเสริมแรงบันดาลใจและจินตนาการให้กับเรื่องราวของโขนรามเกียรติ์ ในรูปแบบของโขนภาพยนตร์ให้ผู้ชมได้รับความสนุกตื่นเต้นและประทับใจยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ชมยุคใหม่อีกทั้งเพื่อเป็นการเผยแพร่เอกลักษณ์ของศิลปะการแสดงประจำชาติของไทยไปสู่สากล โดยใช้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนาฏศิลป์โขนจากหลากหลายสถาบัน และนักแสดงโขนจากโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุงร่วมแสดง

โขนภาพยนตร์ HANUMAN White Monkey อำนวยการสร้างภาพยนตร์โดยนางนฤมล ล้อมทอง กรรมการผู้จัดการบริษัท สหศีนิมา จำกัดกำกับภาพยนตร์โดย นายสาโรจน์ สุวัณณาคาร บทภาพยนตร์โดย นายสาโรจน์ สุวัณณาคาร นายจรัญ พูลลาภ

นำรูปแบบการแสดงโขน ณ โรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุงมาเป็นหลักในการผลิตภาพยนตร์ ทั้งด้านการดำเนินเรื่อง การแต่งกาย ท่ารำแบบนาฏศิลป์ไทย รวมถึงขนบธรรมเนียมจารีตต่าง ๆ ที่ใช้ในการแสดงโขน และนำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ที่มีอยู่เดิมนำมาสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นผลงานทางวัฒนธรรมในรูปแบบภาพยนตร์ที่น่าตื่นตาตื่นใจเติมเต็มจินตนาการจากวรรณกรรมให้สมจริง และคนทุกคนทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าถึงผลงานทางวัฒนธรรมชิ้นนี้ได้ทั่วโลก

การผสมผสานสิ่งที่มีอยู่เดิมและความเป็นสมัยใหม่เข้าด้วยกันนั้น ต่างต้องปรับมุมมองและหาพื้นที่ตรงกลางเพื่อเป็นจุดเชื่อมทำให้การดำเนินเรื่องราวแบบภาพยนตร์สามารถดำเนินไปพร้อมกับจารีตดั้งเดิมของการแสดงโขน โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์โขนที่มากด้วยฝีมือความรู้และประสบการณ์ นำโดยรศ.ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ (ศิลปินแห่งชาติ) ผู้กำกับการแสดงโขนศาลาเฉลิมกรุง พร้อมทั้งคณะครูที่ปรึกษาฝ่ายการแสดงโขนอีกหลายท่าน ร่วมมือกันหาจุดเชื่อมระหว่างความเป็นโขนและความเป็นภาพยนตร์ให้เข้ากันได้อย่างลงตัวและสวยงาม

จุดสำคัญที่ทำให้เกิดแนวคิดในการผลิตโขนภาพยนตรต์ คือคนส่วนมากอาจคิดว่างานอนุรักษ์ต้องอยู่กับที่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น งานอนุรักษ์สามารถปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงได้ โขนซึ่งเป็นมรดกของโลกเป็นสิ่งที่ควรจะช่วยกันอนุรักษ์เผยแพร่ และให้อยู่ร่วมกับคนไทยได้ในทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปแต่โขนสามารถยืนหยัดและตามไปในทุกยุคได้ จากโขนที่หาชมยากสามารถทำให้เป็นภาพยนตร์ไม่ว่าจะอยู่ในโลกใบนี้ทุกคนก็สามารถรับชมได้ โดยนำความเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาผสมผสานกันจนเกิดผลงานที่ทรงคุณค่าและเข้าถึงได้ง่าย 

การหยิบนำภูมิปัญญาด้านศิลปนาฏกรรมชั้นสูงของไทยมาต่อยอดให้มีชีวิตต่อไปในครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในเชิงของประวัติศาสตร์ ซึ่งนับว่าเป็นวิวัฒนาการแบบใหม่ของศิลปะการแสดงโขน โดยในอดีตนั้นการแสดงโขนได้ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเป็นโขนรูปแบบที่ในยุคปัจจุบันใช้จัดแสดง รวมถึงโขนศาลาเฉลิมกรุงคือโขนฉาก ซึ่งการสร้างสรรค์ผลงานทางวัฒนธรรมในครั้งนี้ได้ต่อยอดจากโขนฉากบนเวทีสู่จอภาพยนตร์นับเป็นการนำศิลปะการแสดงโขนก้าวสู่วิวัฒนาการอีกขั้นหนึ่ง

โขนมีจุดเริ่มต้นจากวิวัฒนาการจากโขนกลางแปลง โขนนั่งราว โขนหน้าจอ โขนโรงใน โขนฉาก โขนชักรอก และโขนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จนมาถึงโขนภาพยนตร์ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งถ่ายทอดโดยนำความเรียบง่ายของคำว่า HANUMAN White Monkey มาใช้เป็นชื่อในการสื่อสารกับภาพยนตร์ชุดนี้ นอกจาก “หนุมาน” ขุนศึกตัวเอกในการดำเนินเรื่องจะเป็น “ลิงสีขาว” เพียงตัวเดียวแล้ว ยังใช้ชื่อเพื่อแทนความหมายของ “สีขาว” ตามจิตวิทยาของความรู้สึกของสีมาแทนค่าแทนความบริสุทธิ์ สันติภาพ ความสงบ ความดี ความเรียบง่าย และความหลุดพ้น ซึ่งหนุมานตัวเอกจะนำพาผู้ชมไปค้นหาคำตอบและจุดหมายปลายทางนั้นในตอนจบ

ความพิเศษของการผลิตโขนภาพยนตร์เรื่องนี้สิ่งที่ผู้ชมจะเห็นได้อย่างชัดเจนคือการออกแบบงานศิลป์ในภาพยนตร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากและท้าทายสำหรับผู้ออกแบบงานศิลป์ เนื่องจากเป็นการถ่ายทำแบบ blue screen ทั้งหมดจึงต้องสร้างสรรค์งานภาพจาก Computer graphic โดยถอดรหัสและตีความจากเรื่องราวของโขนรามเกียรติ์ และข้อมูลจากครูผู้เชี่ยวชาญด้านโขน เพื่อสามารถผลักดันหรือขับเคลื่อนการเล่าเรื่องรามเกียรติ์ในรูปแบบภาพยนตร์ให้ดีที่สุด

ในด้านสุนทรียภาพอีกหนึ่งความพิเศษของโขนภาพยนตร์คือดนตรีประกอบภาพยนตร์การนำดนตรีไทยแบบ “ปี่พาทย์” ผสมผสานกับดนตรีแบบตะวันตก ผู้สร้างงานได้หาวิธีคิดหามุมมองในด้านของดนตรีเพื่อใส่เข้าไปในการแสดงภาพยนตร์ ดนตรีจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งทำให้ผู้ชมรู้สึกตื่นเต้น สนุก และไม่น่าเบื่อ ครบรสทั้งรูปแบบเพลงไทยเดิม รูปแบบออร์เคสตรา และรูปแบบเพลงร็อค ซึ่งสามารถนำเสียงเพลงเหล่านี้มาประกอบกับโขนภาพยนตร์อย่างลงตัว นอกจากเสียงดนตรีแล้วยังมีเสียงพากย์แบบที่ใช้ในการแสดงโขน การขับร้องเพลงไทย และการแรปทั้งหมดเหล่านี้สามารถนำมาอยู่ในโขนภาพยนตร์ได้อย่างดีอย่างเหลือเชื่อ

ด้านผู้แสดงล้วนเป็นนักแสดงโขนศาลาเฉลิมกรุง และนักแสดงที่มีความสามารถด้านนาฏศิลป์โขนจากสถาบันต่าง ๆ ที่ผ่านการคัดเลือกโดยผู้กำกับภาพยนตร์ และครูผู้เชี่ยวชาญด้านโขน

สำหรับเสียงร้องเสียงพากย์และเสียงเจรจาในภาพยนตร์ฉบับนี้ให้เสียงโดยนักแสดงของศาลาเฉลิมกรุงในทุกบท นอกจากนี้ได้ศิลปินรับเชิญพิเศษ เก่ง ธชย ประทุมวรรณ มารับบทร้องและบทพากย์ของหนุมาน พร้อมด้วยความพิเศษสุดกับโขนภาพยนตร์ซึ่งเก่งธชยได้ร้องเพลงแรป(Rap) ถ่ายทอดลงในภาพยนตร์ ซึ่งถือว่าเป็นศิลปินที่มีความสามารถ เพราะสามารถใช้เสียงได้อย่างหลากหลาย และช่วยส่งอารมณ์ความรู้สึกในการดูโขนภาพยนตร์ได้อย่างอรรถรส ซึ่งจะช่วยดึงความสนใจจากผู้ชมที่เป็นเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ดี โขนภาพยนตร์เรื่องนี้จึงนับว่าเป็นการดึงศักยภาพความสามารถฝีมือของนักแสดงออกมาใช้ให้คนไทยและคนทั้งโลกได้เห็นถึงคุณค่าของการเรียนศิลปะการแสดงที่ชื่อว่า “โขน” เพื่อช่วยกันรักษาพัฒนาให้โขนสามารถวิวัฒนาการต่อไปไม่ว่าโลกจะปรับเปลี่ยนไปกี่ยุคสมัยก็ตาม

ทั้งนี้ โขน HANUMAN White Monkey มีกำหนดเปิดฉายรอบปฐมทัศน์ในวันที่ 4 ธันวาคม 2565 เวลา 19.00 น. ณ โรงภาพยนตร์สยามภาวลัยเธียร์เตอร์ ชั้น 6 ศูนย์การค้าสยามพารากอน และจัดฉายรอบปกติในวันที่ 5 ธันวาคม 2565 ณ โรงภาพยนตร์เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์และโรงภาพยนตร์เอสเอฟซีเนม่าทั่วประเทศ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร และเพื่อเป็นการดำเนินตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์และสืบสานศิลปะการแสดงโขน อีกประการสำคัญคือเป็นการดำเนินตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการสืบสานรักษาต่อยอดศิลปวัฒนธรรมประจำชาติไทยเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและสืบทอดไปสู่เยาวชนของชาติต่อไป

###

ข้อมูลจาก กระทรวงวัฒนธรรม

You may also like

About Us

สื่อที่มุ่งเน้นข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ เป็นกลาง เพื่อให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจ

@2022 – All Right Reserved. Designed and Developed byu00a0PenciDesign